ลดเสี่ยง! ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำ CTA Coronary Artery
28 ตุลาคม 2567
ลดเสี่ยง! ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการทำ CTA Coronary Artery
ปัจจุบันโรคหัวใจคร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับต้นๆ และผู้ป่วยมีแนวโน้มมีอายุเฉลี่ยน้อยลง แม้แต่นักกีฬาที่ถือว่าเป็นบุคคลที่แข็งแรงก็ยังเคยได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ ว่ามีการเสียชีวิตระหว่างแข่งขัน จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคหัวใจเป็นโรคที่มากับความเงียบ เกิดขึ้นเมื่อใดอาจอันตรายถึงเสียชีวิตฉับพลันได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า อายุน้อยหรืออายุมาก...ก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ย่อมมีความเสื่อมของหลอดเลือดตามวัย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน และสำหรับคนที่ยังอายุไม่มาก แม้ความเสี่ยงจะน้อย แต่ก็อาจจะเป็นโรคหัวใจบางชนิดได้ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่ต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มชา กาแฟเป็นประจำ ผู้ที่มีความเครียดสูง
สัญญาณอันตรายของ...โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ วิงเวียน ใจสั่น หายใจขัด หายใจหอบเหนื่อย หรือหน้ามืดเป็นลมอยู่บ่อยๆ อาจเป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจที่จำเป็นต้องรีบตรวจให้พบ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพหัวใจ...?
- ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ความดันหิตสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตราฐาน เป็นโรคอ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รวมถึงเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจในด้านอื่นๆ
- ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น มีความดันโลหิตสูง มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหัวใจอื่นๆ
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นหลอดเลือดหัวใจ เช่น สูบบุหรี่จัด ทำงานที่มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ คุณภาพการนอนไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย
การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการทำ CTA Coronary Artery คืออะไร...?
CTA (CTA Coronary Artery) เป็นเทคโนโลยีการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อการตรวจคัดกรองและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้น ซึ่งก่อนหน้านี้การทำ CTA จะนิยมใช้ในการประเมินอาการผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหรือการทำบายพาส การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Post Coronary Bypass Graft) และการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิด (Coronary Anomalies) เพราะการทำ CTA จะแสดงให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติของหลอดเลือดหัวใจ และลักษณะการบายพาสแต่ละเส้น ตำแหน่งของหลอดเลือดหัวใจที่ผิดปกติ รวมทั้งขดลวดที่ใส่ไว้ด้วย จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างมาก สำหรับการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ โดยปกติแพทย์จะใช้หารทำ CTA ร่วมกับการตรวจหัวใจด้วยการทำคลื่นสะท้อนความถี่สูง ที่เรียกว่า Echo (Echocardiogram) ซึ่งหากผลการตรวจ Echo หัวใจพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยวิธี CTA เพื่อใช้ยืนยันลักษณะการไหลเวียนของเลือด รวมถึงตำแหน่งรั่วหรือความผิดปกติต่างๆ ซึ่งจะทำให้รู้แน่ชัดว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันหรือไม่ และเกิดขึ้นในบริเวณใดของหัวใจ
วิธีการตรวจหัวใจด้วยวิธี CTA Coronary Artery
- ก่อนทำการตรวจหัวใจด้วยวิธี CTA แพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียด มีการซักประวัติการแพ้และวิเคราะห์ผลเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสรุปว่าควรเข้ารับการตรวจด้วยการทำ CTA หรือไม่
- การทำ CTA เป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ทำได้รวดเร็วและปลอดภัย โดยแพทย์จะทำโดยฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำ ก่อนที่จะทำการเอกซเรย์ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนพัก 1 – 2 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
- การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง เป็นการตรวจเพื่อค้นหาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยสามารถบอกระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ หรือใช้ติดตามผลการรักษา โดยปัจจุบัน การตรวจด้วยวิธีการทำ CTA เป็นการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ก่อนทำการผ่าตัดหรือทำหัตถการใหญ่ๆ
ข้อจำกัดในการตรวจ CTA Coronary Artery
- ผู้ป่วยต้องได้รับการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจไม่เกิน 65 ครั้งต่อนาที ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของอายุรแพทย์โรคหัวใจ กรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจเกิน 65 ครั้งต่อนาที อาจจำเป็นต้องได้รับยาก่อนทำการตรวจ
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ในกรณีเกิดการแพ้สารทึบรังสีและต้องมีผลค่าการทำงานของไตทุกครั้ง เนื่องจากสารทึบรังสีที่ใช้จะถูกขับออกทางปัสสาวะ
- ผู้ป่วยต้องสามารถกลั้นหายใจขณะทำการสแกนประมาณ 10 วินาที
- กรณีค่า Calcium score เกิน 400 รังสีแพทย์และแพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาว่า ควรทำการตรวจเพื่อหารอยโรคอื่นที่แพทย์สงสัยเพิ่มเติมหรือไม่
- ปกติแล้วสารทึบรังสีเป็นสารที่มีไอโอดีน อาจมีผลข้างเคียงในผู้ที่แพ้อาหารทะเล ดังนั้น หากมีโรคประจำตัวอย่างภูมิแพ้ หอบหืด ไทรอยด์ รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตหรือมีภาวะไตวายเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับการตรวจ
“หากคุณหรือบุคคลในครอบครัวของคุณมีอาการเสี่ยงหรือเป็นโรคหัวใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและประเมินสุขภาพของหัวใจอย่างถูกวิธีหากมีคำถามหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษา
ต้องการปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง แผนกโรคหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ พร้อมดูแล ติดต่อ 056 000 111 ต่อ 510211”
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
แผนกโรคหัวใจและหลอดเลือด
สถานที่
ชั้น1
เวลาทำการ
จ,พฤ,ศ : 17.00-20.00 ,อ,พ : 17.00-19.00 ส,อา : 08.00-17.00
เบอร์ติดต่อ
(056) 000 111 ต่อ 510211